หอไตรหนองขุหลุ

ที่ตั้ง  บ้านขุหลุ  ตำบลขุหลุ  อำเภอตระการพืชผล  จังหวัดอุบลราชธานี

ผู้ออกแบบ  หลวงปู่สิงห์ เจ้าอาวาสวัดศรีโพธิ์ชัย

ผู้ครอบครอง  เทศบาลตระการพืชผล

ปีที่สร้าง พ.ศ. 2459

ปีที่ได้รับรางวัล พ.ศ. 2547

ระยะทางห่างจากโรงเรียน 12 กม. ใช้เวลาเดินทางประมาณ 15 นาที

ประวัติ 

หอไตรหนองขุหลุตั้งอยู่ในหนองขุหลุซึ่งเป็นหนองน้ำธรรมชาติใกล้วัดศรีโพธิ์ชัย โดยหลวงปู่สิงห์เจ้าอาวาสวัดศรีโพธิ์ชัยในขณะนั้นเห็นว่าหนองขุหลุเป็นหนองน้ำที่มีสภาพแวดล้อมเหมาะสมในการสร้างหอไตร เพื่อใช้เป็นที่เก็บคัมภีร์ใบลานและตำราทางพุทธศาสนาหลวงปู่สิงห์จึงได้บอกกล่าวชาวบ้านให้หาไม้กระดานและวัสดุอื่นๆ มาช่วยกันในการก่อสร้าง  กำหนดเริ่มก่อสร้างในเดือน 5 ซึ่งเป็นฤดูแล้งเหมาะแก่การตั้งเสาในหนองน้ำซึ่งแห้งลงมาก  เมื่อก่อสร้างเสร็จแล้วก็ได้หาช่างแกะสลักตกแต่งลวดลาย  การเข้าถึงหอไตรนั้นพระต้องพายเรือเข้าไป หลังจากนั้นจึงมีการสร้างสะพานไม้เพื่อเข้าชมหอไตรได้สะดวกมากขึ้น  ต่อมาในปี พ.ศ. 2542 สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 8 อุบลราชธานี กรมศิลปากร  ได้เข้ามาบูรณปฏิสังขรณ์หอไตรหนองขุหลุ  หลังจากนั้น ในปีพ.ศ. 2544กรมศิลปากรได้ประกาศให้หอไตรหนองขุหลุเป็นโบราณสถาน

หอไตรหนองขุหลุเป็นอาคารไม้ยกพื้นสูงรองรับด้วยเสาไม้ 25 ต้น หลังคาจั่วมีปีกนกโดยรอบ  มุงด้วยกระเบื้องดินเผา ส่วนประดับหลังคาคือตัวเหงาไม้แกะสลักรูปนาค  ช่อฟ้า รวยระกาและคันทวยแกะสลักเป็นลายก้านขด  โดยรอบอาคารตีไม้เข้าลิ้น ในแนวตั้ง  ทรวดทรงอาคารแผ่กว้างหลังคาสูงทิ้งชายคาลาดต่ำ  หอไตรหนองขุหลุมีลักษณะทางสถาปัตยกรรมแบบพื้นบ้านที่มี ความงามเรียบง่าย ให้ความรู้สึกสงบนิ่งและสมดุล

นอกจากความสำคัญของหอไตรหนองขุหลุในด้านสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นแล้ว  ยังนับเป็นปูชนียสถานที่เรียกว่าธรรมเจดีย์ ดังนั้นการอนุรักษ์หอไตรหนองขุหลุจึงไม่ได้เป็นเพียงการอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมเท่านั้น แต่ยังเป็นการสืบทอดพระศาสนาให้ดำรงอยู่เป็นสรณะของชาวพุทธที่ยั่งยืนสืบไปอีกประการหนึ่งด้วย  นอกจากนี้ลักษณะพิเศษอีกประการหนึ่งของหอไตรหนองขุหลุคือมิได้เป็นของวัดใดวัดหนึ่งแต่เป็นของชุมชนในบริเวณนั้น

 

ข้อมูลทั่วไป: หอไตรหนองขุหลุตั้งอยู่ในหนองน้ำขุหลุ เป็นสถาปัตยกรรมแบบท้องถิ่นอีสาน สร้างด้วยไม้สำหรับเก็บคัมภีร์ใบลาน

หอไตรหนองขุหลุ เป็นหอไตรกลางน้ำที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย ตั้งอยู่ในหนองน้ำชื่อหนองขุหลุ ในท้องที่บ้านขุหลุ ตำบลขุหลุ อำเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี สร้างขึ้นในราว พ.ศ. 2459-2461 โดยหลวงปู่สิงห์ เจ้าอาวาสวัดศรีโพธิ์ชัย และหลวงราษฎร์บริหาร (สด กมุทมาศ) นายอำเภอตระการพืชผล เพื่อใช้เป็นสถานที่เก็บรักษาคัมภีร์ใบลานและตำราทางพระพุทธศาสนาของวัดศรีโพธิ์ชัย หอไตรหนองขุหลุ เป็นสถาปัตยกรรมแบบท้องถิ่นอีสานที่มีความเรียบง่าย มีลักษณะเป็นอาคารไม้ยกพื้นสูง รองรับด้วยเสาไม้ 25 ต้น เรียงเป็นแถว 5 แถว ๆ ละ 5 ต้น ตัวอาคารเป็นเรือนไม้แบบเครื่องสับ หลังคามี 2 ส่วน คือ ส่วนบนที่เป็นทรงจั่ว และส่วนล่างที่เป็นหลังคาปีกนก ปัจจุบันมุงกระเบื้องดินเผา ส่วนประดับหลังคาประกอบด้วยช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ และคันทวย ทั้งหมดทำด้วยไม้แกะสลักลวดลาย ซึ่งแสดงถึงฝีมือช่างพื้นถิ่นในสมัยนั้นได้เป็นอย่างดี โดยรอบอาคารตีไม้เข้าลิ้นในแนวตั้ง ทรวดทรงอาคารแผ่กว้าง หลังคาสูงทิ้งชายคาลาดต่ำ ให้ความรู้สึกสงบนิ่งและสมดุล ภายในหอไตรเป็นห้องทึบสำหรับเก็บคัมภีร์ใบลาน มีประตูทางเข้าทางด้านทิศใต้ทางเดียว ผู้ที่สนใจสามารถเข้าชมได้โดยใช้สะพานไม้ด้านหน้า หากคุณมีโอกาสได้มาเยือนอำเภอตระการพืชผล ก็ขอเชิญชวนให้มาชมความงดงามของหอไตรหนองขุหลุ ซึ่งถือเป็นแลนด์มาร์คหนึ่งของจังหวัดอุบลราชธานี นอกจากนี้บริเวณโดยรอบหนองขุหลุยังมีภูมิทัศน์ที่สวยงาม และยังมีบรรยากาศที่ร่มรื่น เพราะเต็มไปด้วยไม้ยืนต้น ไม้ดอก ไม้ประดับนานาชนิด

สถานที่ : บ้านขุหลุ ขุหลุ ตระการพืชผล อุบลราชธานี 34130

ขอบคุณภาพ ข้อมูล จาก:สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์

 

ติดต่อเรา