*****โรงเรียนได้จัดตั้งขึ้น เมื่อปี พ.ศ. 2535 ด้วยความร่วมมือร่วมใจของชาวบ้านนาสะไม ได้รับความเห็นชอบจากสภาตำบลนาสะไม ให้ใช้พื้นที่ซึ่งเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ทำเลเลี้ยงสัตว์ หมู่ที่ 1 ตำบลนาสะไม อำเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี จำนวน 45 ไร่ 1 งาน 80 ตารางวา โดยนายสุนทร สุขบุญ ตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนพนาศึกษา ในขณะนั้นเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งร่วมกับชุมชนได้สร้างอาคารเรียนชั่วคราวขึ้นจำนวน 2 หลัง มีนักเรียนเข้าเรียนชั้น ม. 1 จำนวน 30 คน จัดการเรียนการสอน โดยคณะครูจากโรงเรียนพนาศึกษา
*****ปีการศึกษา 2537 โรงเรียนพนาศึกษาแยกไปขึ้นจังหวัดอำนาจเจริญ จึงได้มอบหมายการดูแลสาขาให้โรงเรียนมัธยมตระการพืชผล เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2537 และกรมสามัญศึกษาได้ประกาศจัดตั้งโรงเรียนเป็นเอกเทศชื่อว่าโรงเรียนนาสะไมพิทยาคม เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2540 จัดการเรียนการสอนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นตามแผนการจัดการเรียน 2- 2 -2 รวม 6 ห้องเรียน จำนวนนักเรียน 244 คน โดยนายสมาน มโนเอื้อ ผู้อำนวยการโรงเรียนมัธยมตระการพืชผล ทำหน้าที่เป็นผู้บริหารโรงเรียนอีกตำแหน่งหนึ่ง
*****วันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 โรงเรียนนาสะไมพิทยาคม ได้ย้ายโอนสังกัดจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาอุบลราชธานี เขต 2 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ มาสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานี กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย
ปัจจุบัน มีนายเทวินทร์ โตไทยะ เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนนาสะไมพิทยาคม เปิดสอนตั้งแต่ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ถึง ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 มีจำนวนนักเรียนทั้งหมด 265 คน ผู้บริหาร 2 คน ข้าราชการครู 18 คน ผู้ช่วยครู 1 คน พนักงานจ้างตามภารกิจ 1 คน พนักงานจ้างทั่วไป(จ้างสอน) 1 คน นักการ ภารโรง 2 คน พนักงานขับรถ 1 คน แม่บ้าน 1 คน
เทียน หมายถึง แสงสว่าง ปัญญา
หนังสือ หมายถึง ความรู้
ดอกบัว หมายถึง สัญลักษณ์ของจังหวัดอุบลราชธานี
ดอกติ้ว หมายถึง ดอกไม้ประจำโรงเรียน สัญลักษณ์แทนความ อดทน ความมานะพยายาม ดอกติ้วจะออกดอก ในช่วง หน้าแล้ง ในเดือนกุมภาพันธ์ – มีนาคม เป็นสัญลักษณ์ บอกใกล้วันนักเรียน ม.3 และ ม.6 จะจบจากสถานศึกษา
สีฟ้า หมายถึง มีวิสัยทัศน์กว้าง มองไกล
สีขาว หมายถึง ความสะอาด บริสุทธิ์ มีคุณธรรมและจริยธรรม
ฟ้า – ขาว หมายถึง ลูกชาวฟ้า – ขาว เป็นผู้มีคุณธรรม จริยธรรมที่ดีงาม และมีวิสัยทัศน์กว้างไกล
ปญฺญา นรานํ รตนํ
ผู้มีปัญญาเปรียบประดุจแก้วสารพัดนึก
รู้หน้าที่ มีวินัย ใฝ่เรียนรู้ เชิดชูคุณธรรม
“จัดการเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง”